ถ้าครูสอนโดนใจ ต่อให้คาบนั้นจะเรียนติดต่อกันหลายชั่วโมง เรียนก่อนทานข้าวหรือหลังทานข้าวมาอิ่มๆ หนังตาจวนจะปิด เราก็พร้อมเรียนเสมอ เอ? กฎข้อนี้จะใช้ได้รึเปล่าน้าาา ตามพี่เมก้าไปดู 10 วิธีการสอนของคุณครูที่เด็กมัธยมฯ เลิฟมากๆ กันเลยดีกว่า
1. สอนแบบเก็บทุกมุก
การที่เราจะชอบเรียนวิชาใดสักวิชาหนึ่ง พี่เมก้าคิดว่าครูผู้สอนมีส่วนสำคัญมากเลยนะคะ ต่อให้วิชานั้นจะเป็นวิชาที่เรารู้สึกว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ก็ตาม หืม? (-_-‘) แต่ถ้าครูสอนแบบเป็นกันเองสบายๆ เห็นเด็กตาใกล้จะปิดเมื่อไหร่ ก็ขยันรับส่งมุกตลกตลอด มันจะเป็นการเปิดสวิตซ์ให้เราตื่นตัวพร้อมเรียนอยู่เสมอ ส่วนใหญ่แล้ววิธีการสอนของครูที่น้องๆ มักจะเทใจให้ จึงเป็นการสอนในแบบที่ทำให้นักเรียนรู้สึกรีแลกซ์ แล้วก็สนุกตามไปด้วยนี่แหละ อะไรที่เคร่งเครียดน่าเบื่อ เด็กๆ ไม่ค่อยชอบหรอกเนอะ คลาสเรียนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มนี่สิ ความสุขของจริง!
2. สอนแบบเจาะสูตรเฉพาะ
บางทีเวลาที่เรามาเรียน ก็แอบคาดหวังไปถึงตอนทำข้อสอบด้วย เรากับเพื่อนจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เวลาครูบอกว่า “เอ้า! หยิบปากกามาจดเลย สูตรนี้สูตรเดียว ใช้ทำมาหากินได้ตลอดชีวิต” หรือ “เรื่องนี้มีทริกการจำง่ายๆ ท่องตามครู” หรือ “เรื่องนี้ออกสอบบ่อย อย่าพลาดนะ” เราอยากมาเรียนเพื่อโกยสูตรสำเร็จของความรู้แต่ละเรื่อง แล้วเอาไปปรับใช้ มากกว่าเรียนอะไรที่เนื้อหาเยอะแยะไปหมด แต่จับต้องไม่ได้เลย อาจารย์ที่มีเทคนิคเด็ดๆ มาฝากแบบนี้ จะทำให้เด็กรู้สึกว่า การเรียนเป็นเรื่องสนุก แล้วก็ทำความเข้าใจตามได้ไม่ยากนัก
3. สอนแบบเล่าเรื่อง
เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มั้ยคะน้องๆ “เปิดหนังสือหน้า 627 O_O! บลาๆๆ ขีดเส้นใต้ตามครูเลย” หรือ “เริ่มสไลด์แรก (อ่านๆๆ กด Next รัวๆ)” เรียนแบบนี้รู้สึกล้ามือที่จดตามยิกๆ แล้วก็เหนื่อยแทนคุณครูมากเลยค่ะ ขอลากลับบ้านไปอ่านเองก็ได้ =__=’ ส่วนใหญ่แล้ว เด็กๆ จะชอบเวลาที่ครูมาเล่าเรื่องเป็นเกร็ดความรู้ให้ฟังมากกว่า อย่างประวัติศาสตร์ที่เนื้อหาบางพาร์ท อาจจะเยอะ เข้าใจยาก แต่ครูบางท่านกลับหยิบยกเหตุการณ์สำคัญๆ มาเล่าให้ฟังเป็นฉาก ๆ จนเราจินตนาการตามได้เลยค่ะ ทั้งสนุก ทั้งตื่นเต้น ทั้งได้ความรู้ จำยาวนานแบบไม่ต้องท่องเลย
4. สอนแบบแชร์ประสบการณ์
ไม่รู้ว่าน้องๆ เป็นเหมือนกันไหม? เราจะมีความอยากรู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่นอยู่ในสายเลือดอะค่ะ เวลาครูสอนเรื่องไหน แล้วมีสอดแทรกชีวิตคนอื่นที่อาจจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ข้อคิดกับเราได้ เรามักจะนั่งหลังตรง จ้องคุณครูตาแป๋วเลย วิธีการสอนแบบแชร์ประสบการณ์นี้ อาจจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์เด็กๆ ก็ได้นะคะ เพราะความรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน ประสบการณ์ชีวิตต่างหากที่ยั่งยืน เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย น้องๆ ฟังแล้วนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้แน่นอน แอบกระซิบว่าบางทีครูก็ชอบเม้าท์เพลินจนลืมดูเวลา แล้วก็จะถามเราว่า “เอ๊ะ? เมื่อกี้เราเรียนถึงไหนแล้วนะ พวกเธออะชอบชวนครูคุย” อ้าว! ความผิดหนูซะงั้น ^^
5. สอนแบบออกไปท่องโลก
อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ วิธีสอนแบบออกไปท่องโลกนี้ ไม่ใช่ว่าครูจะส่งพวกเราไปนอกโลกนะคะ T^T เราจะออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนกันต่างหากค่ะ เป็นเหมือนกันไหม? เรียนมาตลอดเทอม เรากับเพื่อนก็จะชอบลุ้นว่า ปีนี้จะได้ไปทัศนศึกษาหรือไปออกค่ายที่ไหน ไปเมื่อไหร่ ตื่นเต้นๆ ทั้งที่สถานที่ที่ครูมักจะพาไปบ่อยๆ ก็มีอยู่ไม่กี่ที่ ถ้ายกตามรายวิชาเลย “วิทยาศาสตร์” ไม่พาไปท้องฟ้าจำลอง ก็พิพิธภัณฑ์อะค่ะ “สังคม” ก็ต้องแหล่งมรดกโลกที่สำคัญๆ ของไทยเลย ส่วนค่ายก็น่าจะมีอยู่ 2 อย่าง “ค่ายทหาร” ไม่ก็ “ค่ายลูกเสือ” เอาจริง แค่ได้ออกไปเที่ยวข้างนอก แล้วไม่ต้องกลับมานั่งทำการบ้าน ก็ดีใจแล้วนะคะ
6. สอนแบบได้ลงมือจริง
เรียนเนื้อหา ลงทฤษฎี กันมาแบบแน่นๆ แล้ว เราก็อยากจะลองอะไรที่จับต้องได้บ้าง หลายๆ คนเลยชอบเรียนอะไรที่เน้นการปฏิบัติมาก เพราะได้ลงมือทำจริงๆ เห็นผลจริงๆ สนุกสุดเหวี่ยงจริงๆ อย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้ลงแล็บทดลองอะไรใหม่ๆ ที่น่ามหัศจรรย์เยอะแยะ หรืออย่างวิชาที่ต้องอาศัยการฏิบัติอยู่แล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ คหกรรม พลศึกษา วาดรูป ดนตรี นาฏศิลป์ ฯลฯ วิชาเหล่านี้เหมือนเป็นวิชาช่วยชีวิต หลังจากเรียนอะไรที่เป็นวิชาการหนักหน่วง มาตลอดสัปดาห์ T__T การได้หันมาเรียนวิชาที่คล้ายกับงานอดิเรกของเราบ้าง อาจเป็นหนึ่งในวิธีค้นหาตัวเองด้วยก็ได้นะคะ
7. สอนแบบใช้สื่อจูงใจ
บางทีการสอนแบบจดตามกระดานหรือสไลด์ ก็ธรรมดาไปสำหรับเด็กยุคนี้ค่ะ เราชอบอะไรที่ตื่นเต้นๆ เรียนเหมือนไม่ได้เรียน เอ๊ะ? ยังไง ก็คือเรียนสนุกมาก จนเหมือนกับว่าตอนนี้เราไม่ได้เรียนอยู่เลยไงคะ อย่างตอนเรียนมัธยมฯ พี่เมก้าสังเกตว่าตัวเองกับเพื่อนจะตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ เวลาอาจารย์บอกว่า “วันนี้ปิดหนังสือไปได้เลย ครูจะให้ดูหนัง” แค่ได้ยินคำว่าดูหนังก็สนุกแล้วค่ะ วิชาภาษาอังกฤษครูให้ดูแฮรี่พอตเตอร์ Eng Sub ส่วนวิทยาศาสตร์ให้ดูคลิปกำเนิดเอกภพ อื้อหือ! เห็นอะไรที่เป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วมีชีวิตชีวาดีนะคะ เวลาผ่านไปเร็วมาก ขอบอก!
8. สอนแบบมีเกมชิงรางวัล
ข้อนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า “ไม่จริง! ไม่ชอบอะไรที่แข่งขันเลย คำว่าชนะสะกดไม่เคยเป็น แพ้ตลอด!” ใจเย็นนะคะน้องๆ วิธีการสอนของครูแนวนี้ น่าจะโดนใจสำหรับเด็กๆ ที่ไม่ชอบถูกถามคำถามจี้คนเดียวค่ะ เพราะครั้งนี้ครูจะถาม แล้วให้น้องๆ ผลัดกันยกมือตอบ เหมือนเล่นเกมเลย มีของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ มาเรียกคะแนนความสนใจ เช่น ช็อกโกแลต O_O! “คิดว่าเห็นแก่กินเหรอ? ถูกต้องแล้ว! อิอิ หรือจะเป็นการเล่นเกมแจกสติกเกอร์ แจกบัตรคำ สะสมคะแนนเก็บเป็นห้องๆ ถ้าช่วยกันตอบก็จะได้คะแนนความสามัคคี เป็นการกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เจ๋งปะล่ะ?
9. สอนแบบจบในคาบ
การสอนให้ครบ ให้เข้าใจ เบ็ดเสร็จในคาบแบบไม่มีนัดเรียนนอกรอบ นับได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของเด็กๆ มัธยมฯเลยค่ะ เพราะแค่เหมาเรียนรายวิชาใน 1 สัปดาห์นี้ ก็เยอะจนหัวสมองแทบระเบิดแล้ว เกิดนัดเรียนต่อหลังเลิกเรียน หรือให้ออกจากบ้านวันเสาร์-อาทิตย์อีก ต้องตายแน่ๆ เพราะไหนจะต้องแบ่งเวลามาเรียน แล้วยังต้องแบ่งเวลามาเคลียร์การบ้านที่หนักและเยอะจนแทบจะท่วมตัวอีก TT__TT ดังนั้นจึงขอสรุปว่า การวางแผนการสอนมาในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดเวลาการเรียนแบบพอดีๆ เป็นอะไรที่นักเรียนเลิฟๆ มากที่สุดแล้วค่ะ
10. สอนแบบรู้ลิมิตนักเรียน
ประเด็นสุดท้ายนี้แสดงให้เห็นว่า คุณครูเข้าถึงจิตใจและความรู้สึกของนักเรียนมากๆ วิธีการสอนแบบนี้คือครูจะเปิดใจและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด โดยไม่ตะลุยป้อนเนื้อหาอย่างเดียว แบบไม่สนใจเลยว่าเด็กเข้าใจไหม ครูที่สอนดีมักจะเปิดช่องทางให้นักเรียนได้ซักถามเนื้อหาที่ไม่เข้าใจค่ะ แล้วพอนักเรียนถามก็สามารถตอบข้อสงสัยได้ชัดเจนตรงไปตรงมา โดยไม่มีการบอกว่า “เมื่อกี้ครูอธิบายแล้ว เธอไม่ได้ตั้งใจฟังเหรอ?” แบบนี้เด็กจะเงิบ กลัว แล้วก็เกิดอาการงอแง ไม่อยากเรียนแล้วนะคะ TOT สิ่งสำคัญมากที่สุดคือ ครูจะรู้ขีดจำกัดของเด็กค่ะว่า เนื้อหาวันนี้แน่นเกินไปแล้ว ควรจะพอแค่นี้ก่อน แล้วก็ให้เด็กได้พักซะทีนั่นเอง ^W^
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 วิธีการสอนของครูที่นักเรียนเลิฟมาก ๆ ไม่รู้ว่าตรงใจน้อง ๆ รึเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ถ้าคุณครูมีวิธีสอนได้ครบทั้ง 10 แบบนี้ มีหวังพี่เมก้ารักตาย แล้วก็อยากมาโรงเรียนทุกวันแน่เลย น้องคนไหนอยากแชร์ให้โลกรู้ ถึงวิธีสอนของคุณครูในโรงเรียนที่เราประทับใจม้ากมาก แวะมาแบ่งปันได้นะ รออ่านด้วยใจจดจ่อค่าาา ^^
ที่มา https://www.dek-d.com/