26 ตุลาคม 2558

การรับคนต่างด้าว (บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) เข้าเรียน กศน.

การรับคนต่างด้าว (บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) เข้าเรียน กศน.
.
1) ปัจจุบันรัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้ถ้าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ( ยกเว้นกลุ่มที่หนีภัยมาจากการสู้รบ จัดให้เรียนได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด ) ตาม "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548" ให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็ก และ หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนที่ ศธ 0210.03/6217 ลว. 6 พ.ย. 49 ที่ให้สถานศึกษาสามารถรับสมัครและออกหลักฐานการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้

คนต่างด้าวเรียนได้ทุกระดับ ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีเรื่องนี้อยู่ในภาคผนวก “ทุกเล่ม” เช่น เล่มปกสีเหลืองที่เป็น 1 ใน 9 เล่ม ที่แจกให้ครูทุกคนตอนอบรมหลักสูตรใหม่ จะอยู่ในหน้า 96-114 ถ้าเป็นคู่มือหลักสูตร 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ( ปกสีเลือดหมู ) ที่ส่งให้ทุกอำเภอเมื่อต้นเดือน ธ.ค.55 จะอยู่ในหน้า 99-117 ชื่อเรื่องจะไม่ได้ใช้คำว่า "คนต่างด้าว" แต่จะอยู่ในเรื่อง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ( การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย )

2) หลักฐานที่ใช้สมัครเรียน ดูรายละเอียดและแบบฟอร์มจาก "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548" โดยดูในระเบียบข้อ 6 ถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้ใช้ "บันทึกแจ้งประวัติบุคคล" เป็นหลักฐาน ( บันทึกแจ้งประวัติบุคคลนี้ ใช้แทนทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน ) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://tabianprawet.blogspot.com/2012/04/blog-post.html 

แต่ทางที่ดี เราควรให้ผู้ประสงค์จะเรียนซึ่งไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ไปติดต่อทำบัตรประจำตัว กับฝ่ายทะเบียนอำเภอ ตามข้อ 2.2 ในหน้า 100 เล่มปกสีเหลือง หรือหน้า 103 เล่มปกสีเลือดหมู ก่อน ( เขาพำนักอยู่ในเขตท้องที่ไหนก็ให้ไปติดต่อฝ่ายทะเบียนท้องที่นั้น ฝ่ายทะเบียนอำเภอจะมีความรู้ในการตรวจสอบดีกว่าเรา บางครั้งเราก็อ่าน VISA/Passport ของเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าประเภทไหน ) แล้วให้เขานำหลักฐานการขึ้นทะเบียนมาใช้เป็นหลักฐานการสมัครเรียน จะได้มีเลขประจำตัว 13 หลัก อยู่ในประเภทที่ 8 คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายฯ


ถ้ามาเริ่มเรียนระดับประถม ก็ไม่ต้องมีวุฒิเดิม แต่ถ้ามีวุฒิเดิมจากต่างประเทศ ต้อง "เทียบวุฒิ" ก่อน  (เทียบวุฒิ ต่างจาก เทียบโอน เทียบวุฒิหมายถึงจบชั้นตัวประโยคเช่น ม.ต้น แล้ว จะสมัครเรียนต่อระดับที่สูงกว่า แต่เทียบโอนหมายถึงเรียนยังไม่จบชั้นตัวประโยค เช่นเรียนถึง ม.2 จะสมัครเรียนในระดับเดิมที่ยังไม่จบนั้น โดยเทียบโอนเพื่อไม่ต้องเรียนบางวิชา สถานศึกษา กศน.เราเทียบโอนได้เอง แต่เราเทียบวุฒิไม่ได้ ) ปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่เทียบวุฒิจากต่างประเทศในระดับขั้นพื้นฐานคือ สพฐ. แต่ สพฐ.ปัจจุบันก็ไม่รับเทียบวุฒิระดับประถมแล้ว รับเทียบวุฒิเฉพาะ ม.ต้น ม.ปลาย ฉะนั้นคนต่างด้าวที่ยังไม่จบ ม.ต้น จะมาเรียน กศน.ก็คงต้องเริ่มเรียนที่ระดับประถม
.
3) ถ้ากรอกเลขประจำตัวประชาชน คนต่างด้าว ตามที่มหาดไทยออกให้แล้ว โปรแกรม ITw บอกว่าเลขประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง ก็ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนที่โปรแกรมออกให้ไปก่อน โดยคลิกที่ปุ่มรูปไม้กายสิทธิ์ ด้านขวาของช่องสำหรับกรอกเลขประจำตัวประชาชน แล้วเลือก “ต่างด้าว, ตกลง” จะมีช่อง “หมายเหตุการณ์ออกเลข” มาให้กรอกเหตุผลที่ใช้โปรแกรมออกเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งจะกรอกว่าอย่างไรก็ได้ ( ไม่กรอกก็ได้ )

การจัดตั้งกลุ่มที่ 2

หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.03/14360 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 - จัดตั้งกลุ่มที่ 2 ขออนุญาตมาสำนักงานส่งเสริมการเรียนร...