1 พฤศจิกายน 2567

ประกาศกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เรื่อง จุดเน้นการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘

ประกาศกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 

เรื่อง จุดเน้นการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ 

----------------------------------------------- 

พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ๒๕๖๖ กำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่ในการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ รวมทั้งอาจจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษา ประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รู้จักความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ใฝ่เรียนรู้ มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริต 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ๒๕๖๖ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงได้ประกาศจุดเน้นการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ ดังนี้ 

วิสัยทัศน์ 

“ประชาชนได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความสุข พร้อมเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

พันธกิจ 

๑. จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และยกระดับการศึกษาของประชาชน ให้สามารถ ปรับตัวในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม และมีสมรรถนะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ 

๒. ผลิตและพัฒนาหลักสูตร โปรแกรมการเรียนรู้ สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ วิธีการจัดกระบวนการ เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และสภาวการณ์การพัฒนาของประเทศ 

๓. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา 

๔. สร้างและประสานความร่วมมือเชิงรุกกับภาคีเครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ รูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา 

๕. พัฒนาระบบบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีความทันสมัย โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อการส่งเสริม การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 

๖. พัฒนาและยกระดับศักยภาพบุคลากรทุกประเภท ทุกระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

จุดเน้นการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ 

๑. Quick Win ระยะเร่งด่วน (ภายใน ๖ เดือน) 

๑.๑ “ล็อคเป้า เฝ้าฟื้นฟู” ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (Zero Dropout) 

๑) “ล็อคเป้า” ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และชุมชน เพื่อสำรวจ ค้นหา และเก็บข้อมูล เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษารวมถึงเด็กตกหล่น รวมทั้งมีฐานข้อมูลเพื่อระบุตัวตน และติดตาม ผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือประสานส่งต่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง 

๒) “เฝ้าฟื้นฟู” ออกแบบมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดร่วมกับโรงเรียน หน่วยงานราชการ และชุมชน รวมทั้งจัดทำแนวทางเพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือโอกาส ในการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาทักษะอาชีพ 

๑.๒ จัดระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อส่งเสริมผู้ที่มี ความสามารถเป็นเลิศให้ได้รับคุณวุฒิการศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือ การพัฒนาตนเองในด้านอื่น ๆ ต่อไป 

๑.๓ สำรวจประชากรผู้ไม่รู้หนังสือ ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นในการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือเพื่อลดอัตราการไม่รู้หนังสือของประชาชน (วัย ๑๕ ปีขึ้นไป) ให้เป็นไป ตามตัวชี้วัดของ IMD 

๑.๔ ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และอื่น ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการในการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

๑.๕ เร่งจัดทำกรอบ แผน อัตรากำลังของบุคลากรทุกประเภท ที่สอดคล้องกับโครงสร้าง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งจัดทำแผน OD Transition ครอบคลุมประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบ ราชการ (ก.พ.ร.) ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย ที่กำหนด 

๑.๖ พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน ที่สอดคล้องกับบริบทและภารกิจของกรมส่งเสริม การเรียนรู้เพื่อพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอก 

๒. ด้านการสร้างโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ 

๒.๑ “เรียนทุกที่ รู้ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้จัดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ทั้ง Online On-site และ On-air อาทิ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ห้องเรียนออนไลน์แอพพลิเคชั่น/แพลตฟอร์ม การเรียนรู้รวมถึงรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 

๒.๒ “อ่านได้ทุกที่ เข้าถึงได้ทุกคน” สร้างพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเชิงรุก อย่างเป็นกระบวนการ พัฒนาห้องสมุดประชาชนให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน มีความพร้อม ในการบริการที่ทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ รถส่งเสริมการอ่าน เคลื่อนที่ รวมถึงห้องสมุดออนไลน์ บริการ e-Book เพื่อให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านเพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน 

๒.๓ สร้างโอกาสให้คนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ พร้อมพัฒนา ทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และทักษะจำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) 

๓. ด้านการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ 

๓.๑ พัฒนาระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ที่สามารถเชื่อมโยงการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกระดับและประเภท สร้างความคล่องตัวและเปิดทางเลือก ให้กับผู้เรียนทุกระดับ เพื่อประโยชน์ในการออกใบรับรองคุณวุฒิ/ใบรับรองความรู้ หรือการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพต่อไป 

๓.๒ จัดให้มีระบบแนะแนวทางสำหรับผู้เรียน (Coaching) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถ วางแผนเส้นทางการศึกษาต่อหรือเส้นทางอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของแต่ละบุคคล รวมทั้งสร้างแผนการเรียนรู้รายบุคคลที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) 

๓.๓ “สกร. Learn to Earn” สร้างงาน สร้างรายได้ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรที่เน้น การปฏิบัติและการฝึกทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง โดยเน้นทักษะที่ตอบโจทย์ ตลาดแรงงาน อาทิ ทักษะดิจิทัล ทักษะด้านเทคโนโลยี การเกษตรสมัยใหม่ และงานบริการ ที่สอดคล้องกับ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและนำความรู้ไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้ อย่างยั่งยืน 

๓.๔ “DO-LE (ดูแล) Safety Zone” ส่งเสริมมาตรการความปลอดภัยให้กับผู้เรียน จัดให้มีระบบดูแล เฝ้าระวัง และเตือนภัย สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานความปลอดภัยในพื้นที่ รวมทั้งเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา 

๓.๕ ๑ อำเภอ ๑ หน่วยจัดการเรียนรู้คุณภาพ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาหน่วยจัดการเรียนรู้ ที่มีคุณภาพ อย่างน้อยอำเภอละ ๑ แห่ง รวมทั้งให้มีการพัฒนาหน่วยจัดการเรียนรู้ให้มีความพร้อมในการจัดและ ให้บริการการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐาน 

๓.๖ พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้“STEM for HEALTH” ที่เน้น การเสริมสร้างความรู้ สร้างกระบวนการคิด และปลูกฝังเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต พัฒนาอาชีพ ตลอดจน การรักษาสุขภาพกาย จิต และอารมณ์ควบคู่กันด้วย เพื่อให้มีความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

๓.๗ จัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตามโครงการพระราชดำริและเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งในพื้นที่พิเศษและพื้นที่ชายแดน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ การส่งเสริมการเรียนรู้ การฝึกและพัฒนาอาชีพสำหรับราษฎรไทยบริเวณชายแดน 

๔. ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 

๔.๑ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก กระทรวงศึกษาธิการ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ ในการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับประชาชน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 

๔.๒ สร้างวิทยากรจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้าน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญา ท้องถิ่นให้คงไว้ โดยส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน ๔.๓ ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการเรียนรู้ ผ่านกลไกอาสาสมัครส่งเสริมการเรียนรู้ (อสกร.) เพื่อส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชน ท้องถิ่น สังคม ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร สกร. ในการขับเคลื่อนชุมชนในการปลูกฝังและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชน 

๕. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรและระบบบริหารจัดการ 

๕.๑ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคล 

 ๑) ดูแลเรื่องสวัสดิการ สร้างขวัญและกำลังใจ และความก้าวหน้าให้กับบุคลากร อาทิ การประเมินวิทยฐานะ การโอน ย้าย และการลดภาระงาน 

๒) พัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะของบุคลากรให้มีความพร้อมด้านวิชาการและ ทักษะที่เหมาะสมตามสายงาน ประเภท ระดับ และมาตรฐานตำแหน่ง ๕.๒ พัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ ภายใต้หลักการ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” วิเคราะห์สภาพแวดล้อมของหน่วยงานร่วมกัน สร้างระบบการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง นำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยมาใช้บริหารจัดการ ปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน มีแพลตฟอร์มหรือระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลการเรียนรู้ขนาดใหญ่ (Big Data) ในทุกมิติ เพื่อเป็นข้อมูลใช้ประกอบในการส่งเสริม การเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย 

๕.๓ ส่งเสริมให้หน่วยงานและบุคลากรปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นการพัฒนา ระบบการบริหารงานของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพและลดโอกาสในการทุจริตและประพฤติมิชอบ ๕.๔ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติโดยการขับเคลื่อน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

๖. ข้อสั่งการและแนวปฏิบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ) 

๖.๑ ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan) 

๖.๒ ให้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างเคร่งครัด เช่น การสอบ การบรรจุ แต่งตั้งโยกย้าย (ห้ามซื้อ-ขายตำแหน่ง) ห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ 

๖.๓ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ 

๖.๔ ให้ร่วมกันปลูกฝัง รักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด 

๖.๕ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ 

๖.๖ การลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย ให้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้มีการดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้อง ผูกผ้า ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝากใด ๆ ทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นต้นไป 

ประกาศ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

นายธนกร ดอนเหนือ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้