เรื่อง เปิดศักราชใหม่ในการประกันคุณภาพการศึกษา
โดย นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) บรรยายพิเศษความสำคัญตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประเมินคุณภาพภายนอก โดย ศธ. ได้ตรากฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีความมุ่งหวังว่ากฎกระทรวงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาทุกแห่งในการจัดทำการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และลดภาระของสถานศึกษาในการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก อันนำมาสู่คุณภาพที่สูงขึ้นของสถานศึกษาและผู้เรียนในท้ายที่สุด การจัดสัมมนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการสร้างระบบความเชื่อมโยง ๓ องค์ปรกอบหลัก โดยมี ๑) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ในฐานะผู้ควบคุมกับกำกับดูแลคุณภาการศึกษา ๒) หน่วยสร้างมาตรฐานของสถานศึกษาที่มีคุณภาพคือต้นสังกัดของสถานศึกษานั้นเอง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสุดท้าย ๓) คือตัวสถานศึกษาเอง จะทำให้เกิดสถานศึกษาที่มีมาตรฐานและจำทำรายงานผลการประเมินตนเองอย่างไรต่อไป อาจเรียกได้ว่าการประเมินฯ รอบ ๔ นั้น ความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาถือว่ามีจุดลงตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๑.สถานศึกษาไม่ต้องส่งตัวชี้วัดอีกต่อไป ๒.สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของตนเอง ๓. สถานศึกษาสามารถพัฒนาและยกระดับการพัฒนาอย่างไร ในรอบ ๔ ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมถึง สกศ. ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดกฎกระทรวงนี้
"องค์ประกอบสำคัญ ๓ ส่วนในการประเมินคุณภาพการศึกษารอบนี้ ต้องการข้อมูลสำคัญ ๓ ข้อ ประกอบด้วย ๑) มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาอยู่ระดับใด ขณะนี้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน ๔,๕๐๐ แห่ง ได้มีการนำร่องการจัดระดับมาตรฐานบ้างแล้ว ๒) หลักฐานสนับสนุนผลการประเมินที่สามารถแสดงการยืนยันข้อมูลได้ ๓) แผนการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพในขั้นที่ดีขึ้นมีแผนดำเนินการอย่างไร ซึ่งถือเป็นกฎกติกาใหม่เพื่อกำกับทิศทางการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และถือว่าได้ผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองอย่างรอบคอบมาแล้วในการยกร่าง ๔ ปีที่ดำเนินการ โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ที่ดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นตลอดมา ดังนั้น จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ถึงแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่นำไปสู่ก้าวใหม่ ขอให้กำลังใจทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยไปด้วยกัน" นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ กฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๔๗ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดยสาระสำคัญ ๓ ส่วน ๑) ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่ รมว.ศธ. ประกาศกำหนด ๒) จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ จัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินการ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำสถานศึกษา เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง๓) เมื่อได้รับรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาแล้ว ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาจัดส่งรายงานดังกล่าวพร้อมกับประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบซึ่งรวบรวมได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษาแห่งนั้นให้แก่สำนักงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการประเมินคุณภาพภายนอก ให้สำนักงานดำเนินการประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินและการติดตามตรวจสอบดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยในการดำเนินการสำนักงานอาจจัดให้บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานดำเนินการประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาได้ ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้นติดตามผลการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาต่อไป