3 พฤศจิกายน 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 458/2559 รมว.ศธ./รมช.ศธ. รับฟังแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงาน กศน.

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 458/2559
รมว.ศธ./รมช.ศธ. 
รับฟังแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงาน กศน.




รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) โดยย้ำให้ยึดหลักปรัชญาจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชน “รู้หนังสือ เป็นพลเมืองดี มีอาชีพ” พร้อมทั้งขอข้อมูลศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลให้ชัดเจนเพื่อการวางแผน เน้นจัดทำแผนอัตรากำลังและครู กศน. ระยะ 10 ปี รวมทั้งร่วมบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งถูกควบรวม ตลอดจนยกระดับห้องสมุดประชาชนและบ้านหนังสือชุมชนเพื่อเพิ่มจำนวนผู้อ่านหนังสือและให้ตรงกับความต้องการชุมชน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงาน กศน., พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของสำนักงาน กศน. โดยมีนายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ กศน. และคณะผู้บริหาร ได้นำเสนอผลการดำเนินงานปีงบประมาณที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังการนำเสนอครั้งนี้ เห็นว่าสำนักงาน กศน. ได้วางกรอบแนวทางการทำงานและแผนงานต่าง ๆ ไว้เป็นอย่างดี โดย รมช.ศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ช่วยเติมเต็มในรายละเอียดและจุดเน้นในแผนงานที่สำคัญหลายส่วน ดังนี้
  •  ปรัชญาการจัดการศึกษาของ กศน.   เนื่องจากสำนักงาน กศน. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 จนถึงปัจจุบัน ได้มีปรัชญาการจัดการศึกษาว่า "เพื่อให้คนรู้หนังสือ ให้ประชาชนเป็นพลเมืองดี และมีอาชีพ" แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินงานโดยให้น้ำหนักในเรื่องความเป็นพลเมืองดีน้อยเกินไป จึงขอให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนเป็นคนดีให้ชัดเจนขึ้น เพราะคำว่า "คนดี" เป็นคำที่กว้างมาก เชื่อว่าสำนักงาน กศน.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จำแนกออกมาให้เห็นภาพที่ชัดเจน
  • ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล  จากการรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ทั้ง 7,424 แห่ง ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก จึงขอให้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ ทั้งศูนย์ที่ดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ ศูนย์ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขบางส่วน หรือศูนย์ที่ต้องพัฒนาปรับปรุงใหม่ พร้อมทั้งระบุปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และให้รายงานข้อมูลดังกล่าวภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้มองเห็นภาพและวางแผนการทำงานของศูนย์ฯ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายที่สำคัญคือต้องการให้ประชาชนนำไปใช้ได้จริง รวมทั้งมีการทำงานประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน
  • แผนพัฒนาบุคลากรและครู กศน.  ขอให้มีการทบทวนเกณฑ์การโอนย้ายครู เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูจากการโอนย้าย นอกจากนี้ ให้จัดเตรียมแผนพัฒนาครูที่จะต้องมีการตรวจเลือดครู กศน. เช่นเดียวกับครู สพฐ. เพื่อจะได้พัฒนาครูให้มีศักยภาพมากขึ้น รวมทั้งให้สำนักงาน กศน. วางแผนกรอบอัตรากำลังและพัฒนาบุคลากรล่วงหน้าระยะ 10 ปีไว้ด้วย
  • การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งถูกควบรวม  โดยขอให้สำนักงาน กศน. เสนอแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ในโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. ที่ถูกควบรวมจากการบริหารจัดการตามโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การเรียนของ กศน. ศูนย์จัดกิจกรรมของชุมชน ที่ดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งในเรื่องงบประมาณและการใช้ประโยชน์ที่ดินต่าง ๆ โดยรอบแรกจะมีการเคลื่อนย้ายในโรงเรียน 286 แห่ง ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ส่วนในรอบต่อไปจะเริ่มเคลื่อนย้ายวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ในโรงเรียน 595 แห่งทั่วประเทศ แต่การดำเนินการดังกล่าว หากมีชาวบ้านแม้แต่เพียงคนเดียวไม่ยอมรับให้ยุบหรือควบรวม ก็จะไม่ยุบหรือควบรวมโรงเรียนนั้น ๆ แต่อย่างใด
  • การยกระดับห้องสมุดประชาชนและบ้านหนังสือชุมชน  ขอให้จัดกิจกรรมเพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาอ่านหนังสือมากขึ้น ทั้งในห้องสมุดประชาชน 913 แห่ง และบ้านหนังสือชุมชน 15,000 แห่งทั่วประเทศ โดยให้เน้นกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา พร้อมทั้งให้สอดแทรกข้อมูลและข้อเท็จจริงในเรื่องที่ประชาชนควรจะรู้เข้าไปด้วย นอกจากนี้ ควรมีการสำรวจตัวเลขผู้ไม่รู้หนังสือ ผู้ที่อ่านหนังสือน้อย ตลอดจนพฤติกรรมการอ่านของคนในชุมชน  เพื่อจะได้จัดกิจกรรมและจัดหาหนังสือให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและบริบทของแต่ละชุมชนได้ตรงกับความต้องการ
แผนการดำเนินงาน
ของสำนักงาน กศน.
ประจำปีงบประมาณ 2560
นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ กศน.  ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ภายใต้หลักปรัชญาการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชน “รู้หนังสือ เป็นพลเมืองดี มีอาชีพ” และมีวิสัยทัศน์ “กศน.ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาของประชาชนทุกช่วงวัย” ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร 12,421 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้กำหนดพันธกิจเพื่อจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ การประสานการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและชุมชมเพื่อจัดการศึกษา การพัฒนาและนำเทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เทคโนโลยี สื่อ นวัตกรรม การวัดและประเมินผล ให้สอคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และมุ่งพัฒนาบุคลากรและระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วม
โดยมีแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงานของ กศน. ดังนี้
● แผนดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของ กศน. ปี 2560
- การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจภายใต้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่ถูกต้องให้กับประชาชน สร้างกระบวนการเรียนรู้จากข้อมูลชุมชนแบบมีส่วนร่วม พร้อมนำสื่อและเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้, โครงการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, โครงการสะเต็มศึกษา เป็นต้น
- กศน. เพื่อประชาชน เพื่อให้ความรู้และทักษะเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย สร้างจิตอาสาและพัฒนาทักษะด้านอาชีพแก่ประชาชน ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการสร้างจิตอาสา กศน., โครงการให้ความรู้เรื่องการบรรเทาสาธารณภัย, โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพ เป็นต้น
- การพัฒนาศักยภาพ ครู กศน. เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพครู กศน. ตามสมรรถนะ, การพัฒนาหลักสูตรวิทยากรกระบวนการ เป็นต้น
- การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ควบรวม เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบเลิกสำหรับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งมีแผนงานที่สำคัญ คือ ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน, เปิดโอกาสให้ “คลังสมอง (ผู้เกษียณ)” ร่วมจัดการศึกษา, สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
- แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาใน จชต. โดยมีแผนงานในการจัดการศึกษาแก่กลุ่มเป้าหมายรวม 36,178 คน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการมูลนิธิพระดาบส 120 คน, โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ 8,960 คน, โครงการส่งเสริมภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้และสื่อสาร 17,095 คน, โครงการรินน้ำใจสู่พี่น้องชาวใต้ 1,100 คน, โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถาบันศึกษาปอเนาะ 883 คน, โครงการกีฬา กศน. สานสัมพันธ์ชายแดนใต้ 2,500 คน, โครงการลูกเสือ 3,520 คน, มหกรรมวิทยาศาสตร์ 2,000 คน เป็นต้น นอกจากนี้มีแผนที่จะพัฒนาบุคลากร จัดประชุมติดตามการติดตามผลสัมฤทธิ์การยกระดับการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. และการก่อสร้าง
● จุดเน้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2560
- พัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล : จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการขอประชาชน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ “สะเต็มศึกษา” และการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มอัตราการรู้หนังสือ
- การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา : จัดทำแผนอัตรากำลังล่วงหน้าระยะ 10 ปี พัฒนาศักยภาพครู กศน.ทุกประเภท และสำรวจข้อมูลและทบทวนหลักเกณฑ์การจ้างลูกจ้างแบบจ้างเหมาบริการ
- การผลิตและพัฒนากำลังคน และงานวิจัย : ยกระดับการศึกษาให้กับกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย และการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาในแต่ละพื้นที่
- ขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาและการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต : เร่งบริหารจัดการการใช้พื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบรวม การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย การส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการศึกษากับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนสำรวจข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือ ส่งเสริมให้เกิดชุมชนรักการอ่าน
- ส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา : พัฒนา กศน.ตำบล ให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ และพัฒนาระบบแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ (Portal Web) ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้
- พัฒนาระบบบริหารจัดการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา : สำรวจ วิเคราะห์ และปรับปรุงค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสร้างความรู้ ความตระหนัก และปลูกจิตสำนึกตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนความรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ● ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน กศน. ปี 2559
มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการ เช่น เปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล 7,424 แห่ง, จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) 7,424 แห่ง, ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ขยายผลการจัดอบรมให้กับประชาชน 352,282 คน, จัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1,231,079 คน, ส่งเสริมการรู้หนังสือแก่ประชาชน 86,903 คน, จัดการศึกษาตามอัธยาศัย 22,161,480 คน ผ่านห้องสมุดประชาชน บ้านหนังสือชุมชน โครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ และกิจกรรมศูนย์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

การจัดตั้งกลุ่มที่ 2

หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.03/14360 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 - จัดตั้งกลุ่มที่ 2 ขออนุญาตมาสำนักงานส่งเสริมการเรียนร...